นอกจากเรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจ กระตุ้นยอดขาย มองหาพันธมิตรเพิ่มช่องทางการเติบโตธุรกิจ หรือ บริหารงานจัดการเรื่องต่างๆ แล้ว เรื่องการเงินก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับเจ้าของธุรกิจ ทาง ไอร่ามี 10 ข้อแนะนำ เรื่องการเงิน ที่ผู้ประกอบการ SME หรือเจ้าของธุรกิจควรทราบ ดังนี้
1. เงินหมุนเวียนคือหัวใจ
จากสถานการณ์เศรษฐกิจและวิกฤตการณ์โควิดที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คงเห็นความสำคัญของการมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจมากขึ้น เพราะว่าการมีเงินทุนหมุนเวียนนั้น ช่วยทำให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง ดังนั้นการบริหารจัดการและประมาณการกระแสเงินสดรับและจ่ายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับเจ้าของธุรกิจ SMEs
โดยวิธีประมาณการกระแสเงินสดรับจ่ายนั้น ผู้ประกอบการควรจัดทำประมาณการกระแสเงินสดขึ้นมาอย่างน้อย 3 เดือนล่วงหน้า เพื่อให้เห็นสถานการณ์โดยรวมของธุรกิจก่อน เพื่อจะได้จัดเตรียมเงินหมุนเวียนให้ทันเวลา
2. กำไรไม่ใช่เงินสด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายของการทำธุรกิจคือ กำไร (มีรายได้มากกว่าต้นทุนขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหาร) และสิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องโฟกัสตามมาด้วยคือ การบริหารจัดการเงินสด เพื่อให้กำไรทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์
ยกตัวอย่างเช่น การขายสินค้าแบบเครดิต (ลูกหนี้การค้า) ถ้าหากไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ได้ตามระยะเวลา แบบนี้ต่อให้มีกำไร แต่อาจจะไม่มีเงินสดเพียงพอต่อการบริหารจัดการได้เช่นกันครับ
3. ลดเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
การลดค่าใช้จ่ายถือเป็นหัวใจสำคัญอีกข้อหนึ่งในการเพิ่มกำไรของธุรกิจ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาในลำดับถัดไปคือ ค่าใช้จ่ายที่ต้องการจะลดนั้น มันเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นต่อธุรกิจของเรา โดยค่าใช้จ่ายที่จำเป็นคือ ค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต ซึ่งหากเจ้าของธุรกิจมีวิสัยทัศน์ เลือกลดเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น (ในตอนนี้) จะทำให้ธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น และผลลัพธ์ทำให้เกิดกำไรยั่งยืนเมื่อเวลาผ่านไป
ดังนั้นก่อนจะลดค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการทุกท่าน ควรจะตั้งคำถามว่า ค่าใช้จ่ายที่ต้องการลดนั้น คือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือไม่ และต้องการจะลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพื่ออะไร
4. เห็น Data ก่อนแล้วจึงค่อยตัดสินใจ
ไม่ว่าผู้ประกอบการจะตัดสินใจทางธุรกิจอะไรก็ตาม Data จะช่วยประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของข้อมูล รายงาน อัตราส่วน สัดส่วน หรือตัวเปรียบเทียบต่างๆ นั้นย่อมดีกว่าการตัดสินใจโดยอาศัย สัญชาตญาณเพียงอย่างเดียว
ยกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจลงทุนซื้อสินทรัพย์ใหม่สำหรับใช้ในธุรกิจ อาจจะต้องพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนในการดูแลรักษา ระยะเวลาการจ่ายชำระหนี้ (กรณีซื้อโดยมีเครดิต) ประสิทธิภาพ และโอกาสสร้างรายได้ประกอบกัน เพราะการลงทุนโดยอาศัยแค่ความรู้สึกหรือสัญชาตญาณนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อการเงินของธุรกิจได้อย่างมาก
5. ไม่ใช่แค่ลดภาษี แต่ต้องลดค่าใช้จ่ายให้ได้
ภาษีถือเป็น ค่าใช้จ่ายที่สำคัญที่เจ้าของธุรกิจหลายท่านอยากลด แต่อย่างไรก็ตามควรพิจารณาต่อว่า ค่าใช้จ่ายในการลดภาษีนั้นเป็นเท่าไร เนื่องจากต้นทุนในการจ้างผู้เชี่ยวชาญ ทีมงาน วางหลักการ หรือจัดการวางแผนธุรกิจทั้งหลายนั้นค่อนข้างจะมีค่าใช้จ่ายสูง
6. ค่าใช้จ่ายต่างจากสินทรัพย์
อีกหนึ่งในการตัดสินใจการเงินที่มักจะพบความผิดพลาดบ่อยๆ ของเจ้าของธุรกิจ คือ การคิดว่าสินทรัพย์กับค่าใช้จ่ายคือเรื่องเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมันมีผลต่อการเงินธุรกิจอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาโดยคิดว่าสามารถเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวนในรอบบัญชี (จะได้ลดภาษี หรือลดกำไร) แต่ในความจริง สินทรัพย์ที่ซื้ต้องทยอยตัดเป็นค่าใช้จ่ายตามอายุการใช้งาน (ค่าเสื่อมราคา) ตามระบบบัญชี และการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดในระยะสั้น (หากต้องจ่ายเงินก้อน) อีกทั้งมีผลกระทบต่อกำไรในระยะยาว (เพราะเป็นค่าใช้จ่ายหลายรอบบัญชี) ดังนั้น การวางแผนและทำความเข้าใจให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อสินทรัพย์อะไร จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของธุรกิจไม่ควรพลาด
7. รับมือกับภาวะวิกฤตด้วยการจัดทำประมาณการ (Projection)
ประมาณการในที่นี้หมายถึง 2 ด้าน ด้านแรกคือ ประมาณการที่จัดทำขึ้นเพื่อวางแผน เช่น ประมาณการกระแสเงินสดรับจ่าย ประมาณการรายรับรายจ่าย (เหมือนในข้อ 1) และในอีกด้านหนึ่งหมายถึงการจำกัดงบประมาณในการจัดการวิกฤต เช่น ควรจะลงทุนเท่าไรเพื่อจัดการปัญหา และเพดานสูงสุดของค่าใช้จ่ายควรเป็นเท่าไร เพื่อจะได้ไม่กระทบด้านอื่นๆ
8. การจ่ายผลประโยชน์ให้กับผู้เกี่ยวข้องต้องมีความชัดเจน
ธุรกิจต้องแยกออกจากเรื่องส่วนตัวอย่างเด็ดขาด ดังนั้น เจ้าของธุรกิจต้องกำหนดผลประโยชน์ของตัวเองและหุ้นส่วนหรือผู้เกี่ยวข้องซึ่งด้รับจากธุรกิจให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าจ้าง คอมมิชชั่น หรือเงินปันผล (ส่วนแบ่งจากกำไร) ว่าควรจะเป็นเท่าไร และควรต้องมีเหตุผลประกอบให้ได้ว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น เพราะการวางแผนผลประโยชน์ได้อย่างชัดเจน จะทำให้ธุรกิจนั้นรู้ต้นทุนที่แน่นอน ในขณะที่เจ้าของธุรกิจเองก็สามารถอยู่รอดได้โดยไม่จำเป็นต้องหาผลประโยชน์แอบแฝงจากธุรกิจด้วยเช่นเดียวกัน
9. หนทางลัดในประหยัดภาษีไม่มีจริง
ผู้ประกอบการหลายท่าน คิดวางแผนประหยัดภาษีกันอย่างง่ายๆ โดยอาศัยจากแนวทางที่คนรอบข้างแนะนำ แต่อย่างไรก็ตามนั่นคือความเสี่ยงมากๆ เพราะภาษีเป็นเรื่องสิ่งที่ยากและซับซ้อน การจะทำความเข้าใจและเลือกใช้แนวทางต่างๆ นั้นต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในหลายมุมมอง ตั้งแต่ความคุ้มค่า ค่าใช้จ่าย ไปจนถึงเรื่องของความเสี่ยงที่ตามมา
10. สิ่งสำคัญที่สุดคือ ระบบบัญชี
ถ้าเราวางระบบบัญชีของธุรกิจไว้ดีตั้งแต่แรก ย่อมจะช่วยให้ธุรกิจเดินทางได้อย่างถูกต้อง และไม่ต้องกลัวปัญหาต่างๆ ตามมาอีกด้วย
ในกรณีที่ท่านผู้ประกอบการธุรกิจเป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ มีคู่ค้าเป็นหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ แล้วต้องการเงินสดหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องภายในกิจการทันที ไม่อยากรอจนครบเครดิตเทอมการค้า สามารถนำเอกสารดังกล่าว มาใช้บริการ Factoring (ขายลูกหนี้การค้า) กับ ทาง AIRA สูงสุดถึง 90% ของมูลค่าเอกสาร อนุมัติไว รับเงินสดรวดเร็ว